ดีมานด์เดินทางฟื้น-เครื่องบินขาดตลาด “นักบินไทย” อัตรารองานพุ่ง

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ในปี 2567 นี้สายการบินทั่วโลกจะขยายตัว 9% แต่สายการบินจะได้รับเครื่องบินน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ 19%

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทผลิตเครื่องบินทั้งโบอิ้ง (Boeing) และแอร์บัส (Airbus) ยังไม่สามารถผลิตเครื่องบินได้ทันกับความต้องการของตลาด

ทั่วโลกขาดแคลนเครื่องบิน

ปัญหาดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบเครื่องบินลดลงอย่างรุนแรง และทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน ขณะที่ดีมานด์การเดินทางกลับมาพุ่งทะลุระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีผู้เดินทางทั่วโลกประมาณ 4.7 พันล้านคนในปี 2567 เมื่อเทียบกับ 4.5 พันล้านคนในปี 2562

โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า สายการบินทั่วโลกได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการบำรุงรักษาเครื่องบินรุ่นเก่าเพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อไป และจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเช่าเครื่องบิน และสายการบินบางแห่งยังจำเป็นต้องปรับลดตารางบินลง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนเครื่องบิน

โดยที่ผ่านมาผู้ให้เช่าเครื่องบินในยุโรปหลายรายเริ่มเปลี่ยนโมเดลการให้เช่าเครื่องบินเป็นแบบ Wet Lease หรือเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน เพื่อขายพ่วงทั้งแพ็กเกจ ซึ่งในอดีตสายการบินจะนิยมใช้โมเดลนี้เพื่อเช่าเครื่องบินมาเสริมในช่วงที่มีดีมานด์มาก หรือช่วงไฮซีซั่น

โลว์คอสต์ขอนำเข้าเครื่อง+นักบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สายการบินทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน ขณะที่ดีมานด์ในตลาดกลับมาแล้ว ทำให้สายการบินใหม่ที่มีแผนเปิดให้บริการในไทยจำนวนหนึ่งมีปัญหาเรื่องการจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาดำเนินการ

โดยที่ผ่านมาสายการบินโลว์คอสต์บางแห่งในประเทศไทยได้ยื่นขออนุญาตจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาสายการบินขาดแคลนเครื่องบิน และเพื่อให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน พร้อมทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึงนี้ รวมทั้งจะทำให้ราคาตั๋วโดยสารมีราคาถูกลงจากปัจจุบัน

หวั่น ICAO ปักธงแดง

“กัปตันธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ” นายกสมาคมนักบินไทย ให้ข้อมูลว่า ในมุมของสมาคมนักบินไม่สนับสนุนการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) อยากให้จัดหาแบบ Dry Lease (เช่าเครื่องบินเปล่า) และใช้นักบินและลูกเรือคนไทยดีที่สุด

“เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีสายการบินโลว์คอสต์รายหนึ่งของไทยได้ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงแรงงาน พร้อมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอใช้นักบินต่างชาติ เนื่องจากจะมีการเช่าเครื่องบินแบบ Wet Lease ซึ่งยกมาทั้งกระบิ หรือที่เรียกว่า ACMI : Aircraft, Crew, Maintenance และ Insurance”

“กัปตันธีรวัจน์” บอกว่า การขอนำเข้าเครื่องบินแบบ Wet Lease เป็นการเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน ถือเป็นการใช้นักบินต่างประเทศบินในเส้นทางภายในประเทศ ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยตามกฎหมายแรงงานนักบินเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น ยกเว้นกรณีขับขี่อากาศยานระหว่างประเทศ

และประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ในประเทศภาคีอนุสัญญาชิคาโก มาตรา 83 ที่จะสามารถดำเนินการได้ด้วย ที่สำคัญประเด็นดังกล่าวนี้ยังเป็นอะไรที่เสี่ยงที่จะทำให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยกลับมาติด “ธงแดง” จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกครั้งได้

นักบินไทยรองานกว่า 2 พันคน

“กัปตันธีรวัจน์” ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินที่ทำงานอยู่ประมาณ 3,000 คน และนักบินที่รองานอยู่อีกราว 2,000 คน (ไม่รวมนักบินจบใหม่) ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนนักบินต่าง ๆ ผลิตนักบินใหม่ออกมาเกินความต้องการของตลาด

จากตัวเลขนี้ทำให้มั่นใจว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้านี้จำนวนนักบินคนไทยที่มียังสามารถรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินของไทยได้ โดยไม่ต้องดึงหรือนำเข้านักบินต่างชาติเข้ามาแต่อย่างใด

ชงรัฐดูแลปัญหา

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ สมาคมนักบินไทยจึงขอเสนอให้ภาครัฐบาลสนับสนุนสายการบินให้จัดหาเครื่องบินแบบ Dry Lease (เช่าเครื่องบินเปล่า) แทนรูปแบบเช่าเครื่องบินพร้อมนักบินและทีมดูแลเครื่องบินทั้งหมด เนื่องจากนักบินคนไทยยังว่างงานอยู่จำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ก็อยากให้รัฐบาลยกเว้นประเด็นในบางเรื่องของการผลิตบุคลากรด้านการบิน ตามกฎระเบียบใหม่ Thailand Civil Aviation Regulation ด้าน Personnel Licensing (TCAR) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT

โดยขอให้มีการยกเว้นข้อกำหนดที่ต้องใช้ใบสำคัญทางการแพทย์ในการต่อใบอนุญาตนักบินให้กับกลุ่มนักบินที่เกษียณและไม่ได้ทำการบินแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนบิน เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนครูผู้สอนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น

รวมทั้งให้ความสนใจกับปัญหา Pay to Fly ที่บางสายการบินเปิดรับสมัครนักบิน แต่ต้องจ่ายต่อคนรวมกว่า 6 ล้านบาท ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม และอาจจะส่งผลต่อคุณภาพและการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและความปลอดภัยในระยะยาว เนื่องจากมีภาระหนี้ที่สูงมาก

พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันจำนวนนักบินที่มีงานทำในอุตสาหกรรมการบินของไทยมีสัดส่วนประมาณ 70% ของจำนวนก่อนช่วงโควิดเท่านั้น นั่นหมายความว่าจำนวนนักบินที่มีอยู่ยังสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้อีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ดีมานด์เดินทางฟื้น-เครื่องบินขาดตลาด “นักบินไทย” อัตรารองานพุ่ง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-08T06:30:04Z dg43tfdfdgfd