5 ปัจจัยบวก-5 ความท้าทาย อุตฯท่องเที่ยวไทย 4 เดือนสุดท้าย

จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 สิงหาคม 2567 (8 เดือนแรก) ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 23,567,851 คน

โดยตลาดนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก มีจำนวนเกิน 1 ล้านคนทั้งสิ้น ได้แก่ จีน จำนวน 4.78 ล้านคน รองลงมาคือ มาเลเซีย 3.26 ล้านคน อินเดีย 1.36 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.24 ล้านคน และรัสเซีย 1.08 ล้านคน

5 ปัจจัยบวกดึง นทท.ต่างชาติ

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ททท.ได้คาดการณ์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะเติบโตไปในทิศทางที่วางแผนไว้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

โดยจากการพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศปีนี้ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้กำหนดเป้าหมายในที่ประชุม TATAP2025 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

ประกอบด้วย 1.นโยบายผลักดันการเดินทางมาตรการ Ease of Traveling ของไทย อาทิ การผ่อนคลายวีซ่าประเภทท่องเที่ยว การขยายเวลาพำนักในไทยนานขึ้น รวมถึงการยกเว้นยื่นใบ ตม.6 บริเวณด่านชายแดนทางบกทั่วประเทศเพื่อจงใจและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังวางแผนจะเดินทางให้สามารถตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยง่ายขึ้น

2.จำนวนที่นั่งโดยสารระหว่างประเทศเข้าไทย Seat Capacity ปี 2567 มีจำนวนรวม 46 ล้านที่นั่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82 ของจำนวนที่นั่งปี 2562 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2566 (37 ล้านที่นั่ง) สอดคล้องตามแนวโน้มความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

3.กระแสเดินทางมาท่องเที่ยวตามรอย Influencer/KOL/ศิลปินชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ภาพยนตร์ไทย MV ศิลปินไทยระดับโลก การแต่งกายผ้าไทย

หรือการใช้จ่ายสินค้าและบริการในไทย ฯลฯ ที่มีการแชร์ภาพหรือวิดีโอไปยังสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยมากขึ้น

4.การจัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้งทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติในประเทศไทย ช่วยดึงดูดการเดินทาง

ของนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดเอเชียตะวันออก เพื่อเข้ามาชมคอนเสิร์ตของกลุ่มแฟนคลับศิลปิน พร้อมทำกิจกรรมท่องเที่ยวในไทยไปด้วยกัน

อาทิ คอนเสิร์ตนักแสดงซีรีส์วาย “ช็-นุนิว” คอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีได้ “NCT 127” งานคอนเสิร์ตของศิลปิน K-Pop “Super Junior” เทศกาลดนตรีฤดูร้อน SUMMER SONIC BANGKOK 2024 และคอนเสิร์ตนักแสดงซีรีส์วายไทย ”บิวกิ้น-พีพี” คอนเสิร์ตศิลปิน Dua Lipa ฯลฯ

และ 5.การดำเนินงานส่งเสริมตลาดต่างประเทศเข้าไทยของ ททท. อาทิ Airlines Focus เพิ่ม Connectivity อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มเที่ยวบิน โครงการ Air-mazing Thailand : The Amazing Airtine FAM Trip ผลักดันสายการบินในและต่างประเทศขยายเส้นทางสู่พื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ในไทย

กระตุ้นเดินทาง Cross Border

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Avation Hub หรือการจับมือ Tourism Cares พร้อมพันธมิตรสายการบิน Delta Air Lines และ Korean Air ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพจากสหรัฐอเมริกา และการเพิ่มเที่ยวบินจาก 2 ตลาดดาวรุ่งในตลาดระยะไกล คือ ซาอุดีอาระเบีย และคาซัคสถาน เป็นต้น

รวมถึงกระตุ้นการเดินทางข้ามประเทศ Cross Border อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศ กลุ่มผู้ชอบขับรถเที่ยวทางบกโดยรถไฟ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ กลุ่มนักปันจักรยาน Big Bike จากตลาดมาเลเชีย

และ Joint Promotion ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการ บริษัทนำเที่ยวกลุ่มรถไฟความเร็วสูงของจีน กลุ่มคาราวานรถยนต์จากคุนหมิงและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน เชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถยนต์และรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เป็นต้น

5 ประเด็นสุดท้าทายโค้งท้าย

ผู้ว่าการ ททท.บอกด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะยังคงมีปัจจัยบวกค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีประเด็นน่าติดตามและเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วง 4 เดือนหลังนี้ ได้แก่ 1.การส่งเสริมตลาดเชิงรุกของคู่แข่งในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม

2.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ชะลอตัว รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพง

3.World Event/Sport Event มหกรรมแข่งขันกีฬาระดับโลกของต่างประเทศ 4.ภัยคุกคามจากภัยพิบัติธรรมชาติ ภัยก่อการร้ายมีแนวโน้มเพิ่มความถี่เกิดบ่อยครั้งหรือรุนแรง โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากผลของวิกฤตคลื่นความร้อน (เอลนีโญ) แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ จนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สิน แผนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวออกต่างประเทศหรือมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง

และ 5.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ฮามาส) สงครามอิหร่าน-อิสราเอล รวมไปถึงความตึงเครียดทางการเมืองในหลายภูมิภาคทั่วโลก

อาทิ สหรัฐ-จีน-ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี อาจลดทอนบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวหากสถานการณ์ทวีความรุนแรง เนื่องจากการยกระดับมาตรการระหว่างประเทศที่ส่งผลให้มีข้อจำกัดการเดินทางท่องเที่ยว อาทิ ยกเลิกเที่ยวบิน หรือปิดน่านฟ้า

4 เดือนสุดท้ายได้ 12 ล้านคน

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศเข้าไทยช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (กันยายน-ธันวาคม) นั้น “ฐาปนีย์” บอกว่า ททท.คาดการณ์ว่าในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 12,226,500 คน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 652,826 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 673,738 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของเป้าหมาย

ทั้งนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2567 นี้ คาดว่าจะยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดหลักจากเอเชียตะวันออก รองลงมาคือ กลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป และเอเชียใต้ ส่วนที่เหลือจากตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ (อเมริกา ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย และแอฟริกา)

คาดปี’67 ต่างชาติ 35.99 ล้านคน

ผู้ว่าการ ททท.ยังให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับตลาดที่เป็น Top 10 ตลาดศักยภาพที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คือ จีน จำนวน 2.03 ล้านคน ตามด้วย มาเลเซีย 1.83 ล้านคน อินเดีย 7.07 แสนคน เกาหลีใต้ 7.04 แสนคน รัสเซีย 6.98 แสนคน ลาว 4.34 แสนคน สิงคโปร์ 4.28 แสนคน ไต้หวัน 3.77 แสนคน ญี่ปุ่น 3.46 แสนคน และสหรัฐอเมริกา 3.41 แสนคน

ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มทั้งปี 2567 นี้ ททท.จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวม 35.99 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวรวมประมาณ 1.818 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 5 ปัจจัยบวก-5 ความท้าทาย อุตฯท่องเที่ยวไทย 4 เดือนสุดท้าย

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-05T09:29:01Z dg43tfdfdgfd